โครงการ ส่งเสริมสิทธิเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งแก่ ผู้หญิงคนข้ามข้ามชาติด้วยกระบวนการกลุ่มพึ่งตนเอง (MWEC by KNH)

3. โครงการ ส่งเสริมสิทธิเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้หญิงคนข้ามข้ามชาติด้วยกระบวนการกลุ่มพึ่งตนเอง  (MWEC by KNH)

           โครงการส่งเสริมสิทธิเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้หญิงคนข้ามข้ามชาติด้วยกระบวนการกลุ่มพึ่งตนเอง ในระยะที่สอง เป็นโครงการเต็มรูปที่จะดำเนินงานเป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2565 ถึง พ.ศ.2569 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจากองค์การ Kinder not hilfe (KNH) ประเทศเยอรมัน ผ่านสำนักงานประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักสองกลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ  2.กลุ่มเด็กและเยาวชนลูกหลานแรงงานข้ามชาติ โครงการมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มผู้หญิงพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ให้สามารถรวมกลุ่มกันและบริหารจัดการแบบกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเอง และเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนด้วยกระบวนการพัฒนาทักษะชีวิต ซึ่งมีเป้าหมายโดยรวมเพื่อให้ “เด็กลูกหลานคนงานข้ามชาติ 3 ตำบล ในอำเภอสันทราย  จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่  1. ตำบลหนองหาร  2. ตำบลป่าไผ่ และ 3.ตำบลแม่แฝกใหม่ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะชีวิต ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้” ซึ่งเด็กและเยาวชนลูกหลานแรงงาน
ข้ามชาติ ส่วนใหญ่ต้องเข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็กเอกชนในพื้นที่และกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่
1.โรงเรียนบ้านแม่โจ้ ต.หนองหาร 2.โรงเรียนบ้านเจดีย์แม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่ 3.โรงเรียนวัดแม่แก๊ดน้อย ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

ผลการดำเนินงานทั่วไป

  • ดำเนินการส่งเสริมและจัดตั้งกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองขึ้นใหม่จำนวน 5 กลุ่ม จากกลุ่มเดิมจำนวน 8 กลุ่ม  รวมจำนวนทั้งสิ้น 13 กลุ่มในพื้นที่ ตำบลหนองหาร ( จำนวน 8 กลุ่ม) ตำบลแม่แฝกใหม่ (จำนวน4 กลุ่ม) และตำบลป่าไผ่ (จำนวน 1 กลุ่ม) อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิกทั้งหมด 124 คน มีลูกหลานแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นบุตรหลานของผู้หญิงคนงานข้ามชาติที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวนเด็ก 154 ราย ขณะนี้มีการนัดหมายจัดการประชุม พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง มีการตั้งกองทุนออมทรัพย์และมียอดเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเด็กจำนวน 9 กลุ่ม รวมจำนวน 89 คน สมาชิก กลุ่มผู้หญิงมีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นและให้ความสำคัญแก่การเลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับช่วงวัย มีเด็กลูกหลานสมาชิกได้รับการประเมินพัฒนาการแล้วพบว่ามีพัฒนาเหมาะตามวัย จำนวน 52 คน
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเรื่องทักษะในการปรุงอาหารให้มีรสชาติดีสำหรับเด็ก มีคุณค่าทางอาหารและไม่ใส่เครื่องปรุงที่อาจเป็นผลเสียแก่สุขภาพเด็ก จำนวน 9 กลุ่ม รวมจำนวน 89 คน จากการติดตามผลพบว่าคุณแม่ที่ผ่านการอบรมมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร โดยเน้นสารอาหารประเภทโปรตีน จากไข่ และเพิ่มผักที่หลากหลายชนิดมากขึ้น และส่วนใหญ่เด็กได้รับประทานอาหารครบทั้ง 3 มื้อ
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเรื่องวิธีการเลือกสรรวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการเหมาะสมกับเด็ก จำนวน 9 กลุ่ม รวมจำนวน 89 คน และได้ลงมือปฏิบัติปรุงอาหาร “เมนูลูกรัก” โดยการปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมกับเด็ก ๆ ลูกหลานในชุมชนคนงานข้ามชาติ
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเรื่องทักษะการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และสร้างอาหารในครัวเรือนจำนวน 9 กลุ่ม รวมจำนวน 89 คน เช่น การเพาะถั่วงอก และการผสมน้ำยาล้างจาน แชมพู เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและสร้างสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่เด็กและคนในครอบครัว
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเรื่องทักษะการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และสร้างอาหารในครัวเรือนจำนวน 9 กลุ่ม รวมจำนวน 89 คน เช่น การเพาะถั่วงอก และการผสมน้ำยาล้างจาน แชมพู เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและสร้างสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่เด็กและคนในครอบครัว
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเรื่องการดูแลสุขอนามัยที่ดีในบ้านและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย  จำนวน 8 กลุ่ม จำนวน 74 คน สมาชิกได้มีการจัดห้องนอนห้องครัวให้เป็นสัดส่วน มีการหาภาชนะเพื่อคลุมอาหารป้องกันแมลงหรือลดกลิ่นอาหารในห้องพักเพื่อสุขอนามัยที่ดีของสมาชิกในครอบครัว
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก ด้วยหลักสูตรอบรมสร้างเสริมวินัยเชิงบวก ให้แก่สมาชิกกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเอง จำนวน 8 กลุ่ม รวมจำนวน 74 คนซึ่งจะติดตามผลการนำไปใช้กับลูกหลานของตนเองในบ้านและชุมชนคนงานข้ามชาติต่อไป
  • จัดอบรมกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองเกี่ยวกับความรู้และทักษะเพื่อการพัฒนาและจัดการกลุ่ม ตามหัวข้อการพัฒนากลุ่มพึ่งตนเองของ KNH จำนวน 5 กลุ่ม รวมจำนวน 50 คน ได้แก่หัวข้อที่ 1 เรื่องแนวคิดกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเอง และประเด็นตามความสนใจของกลุ่มเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1. กฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคล 2.กฎหมายแรงงาน 3.ข้อมูลข่าวสารเรื่องการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตการทำงาน หรือเบอร์โทรศัพท์ช่องทางการประสานงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งเหล่านี้สมาชิกของกลุ่มสามารถนำความรู้ไปใช้เพื่อคนในครอบครัวของตนเองได้

 

ความสำเร็จที่สำคัญของโครงการ

  • ปัจจุบัน กลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเอง จำนวน 8 กลุ่มมีเงินออมทรัพย์ของกลุ่ม มียอดเงินรวมจำนวน  70,540 บาท มีการใช้ประโยชน์จากกองทุนเงินออมนี้ด้วยการกู้ยืมเงินจากกองทุนนำไปลงทุนค้าขายโดยใช้จักรยานยนต์พ่วงข้างขายของในชุมชน นำเงินเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ลูกเพิ่มเติม ต่ออายุ (บัตร)ใบอนุญาตทำงาน ใช้จ่ายในการดูแลลูกด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นผลกระทบทางบวกที่แสดงถึงความเข้มแข็งของกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ความก้าวหน้าของโครงการในวัตถุประสงค์ที่ว่าด้วยการส่งเสริมให้กลุ่มผู้หญิงข้ามชาติพึ่งตนเองสามารถเลี้ยงดูและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ลูกหลานสมาชิก พบว่าสมาชิกกลุ่มผู้หญิงพึ่งตนเองมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการปรุงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและคำนึงถึงรสชาติที่ลูกชอบมากกว่าเดิม โดยการสอบถามพูดคุยกับลูกก่อนและปรุงอาหารเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์  ไข่และผักหลากหลายชนิด เด็กมีความสุขและรับประทานอาหารที่บ้านก่อนไปโรงเรียน และได้ทานอาหารครบ 3 มื้อ ส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็ก เด็กเล็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามช่วงวัย
  • พบว่าในชุมชนคนงานข้ามชาติที่โครงการได้ทำงานในพื้นที่ ไม่มีการไม่ทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในครอบครัว สมาชิกผู้หญิงและครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกมากขึ้น มีความตระหนักเรื่องสิทธิเด็ก รู้ว่าความรุนแรงไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูลูก ลดการดุด่า ประชดประชัน กลุ่มมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูลูกระหว่างสมาชิกของกลุ่ม ปรึกษาหารือการเลี้ยงดูลูกกันอย่างเปิดเผย ส่วนใหญ่ให้ความสนใจร่วมการอบรม ได้รับการเสนอแนะวิธีการพูดคุยกับลูก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกให้เกิดความอบอุ่นยิ่งขึ้น มีเด็กบางคนเล่าให้เจ้าหน้าที่โครงการฟังว่า “อยากคุยกับพ่อแม่มากขึ้น” เพราะพ่อ แม่ รับฟังการพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ถูกพ่อแม่ตี ตั้งแต่แม่มารับการอบรม
     
Tags: