Child Safe & Friendly Environment
เครือข่ายสิทธิเด็กล้านนา #LCRC และ เยาวชนนักกิจกรรมเพื่อสิทธิเด็ก #CRYA พร้อมกับแกนนำเยาวชนทีม SHIFTER ได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ประเด็นสิทธิเด็กกับสิ่งแวดล้อม ในงาน Child Safe & Friendly Environment : ยุติความรุนแรงต่อเด็ก - ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 ว่า ด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อมโดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับประเทศ ณ Helix Gerden ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควดเทียร์ กรุงเทพฯ
จัดโดย ศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมในประเทศ
ในประเด็นสําคัญของ GC26 General Comment หรือ ความคิดเห็นทั่วไปเป็นหนึ่งในกลไกที่คณะกรรมการสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศใช้เพื่อชี้แจงหน้าที่ภาคีเกี่ยวกับบทบัญญัติบางประการ หรือเสนอแนะแนวนโยบายและการจัดการที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้คณะกรรมการสิทธิเด็กน่าเสนอความคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 26 เจาะจง #ประเด็นด้านเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในการดำเนินการรวบรวมความเห็นคณะกรรมการจัดให้มีกลุ่มเด็กที่ปรึกษาอีก 12 คน ที่ดูแลการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้มีเด็กเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะนโยบายกว่า 16,331 คน จาก 121 ประเทศ โดยส่วนหนึ่งในข้อเสนอต่อประเด็นดังกล่าวนี้มีเครือข่าย #CRYA หรือเยาวชนนักกิจกรรมเพื่อสิทธิเด็ก เข้าร่วมกระบวนการด้วย และมีทีม SHIFTER ตัวแทนเยาวชน CRYA เครือข่ายเยาวชนนักกิจกรรมเพื่อสิทธิเด็กล้านนา ได้ขับเคลื่อนและร่วมรณรงค์ในประเด็นสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
ขานรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ‘ความเห็นทั่วไปข้อ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม’
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ยูนิเซฟประเทศไทย มูลนิธิศุภนิมิตฯ และองค์กรภาคประชาสังคม ขานรับขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงวิกฤตสิทธิเด็กอันเนื่องมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ เหล่านี้ส่งผลทำให้คนที่อยู่แวดล้อมเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ครู ชุมชน ไม่สามารถทำหน้าที่ในบทบาทของพวกเขาเพื่อการดูแลและปกป้องคุ้มครองเด็กได้ตามที่ควรจะเป็น นี่คือสิ่งที่เรากำลังบอกกับทุกคนว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือวิกฤตสิทธิเด็ก” นางสาววาสนา เก้านพรัตน์ ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย
เพื่อขับเคลื่อนและรณรงค์ให้ทุกคนเกิดความตระหนักรู้ เห็นความสำคัญ เพื่อนำสู่การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงวิกฤตสิทธิเด็กอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย โดยความร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์กรแตร์ เด ซอม เยอรมันนี (Terre des Hommes Germany) มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิสายเด็ก1387 มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิรักษ์เด็ก เครือข่ายสิทธิเด็กล้านนา ได้ร่วมกันจัดงาน Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย’ และการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อมโดยเน้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนสถานที่จัดงานโดย ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ และการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ได้แก่ Thai Yamazaki และ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคมระดับประเทศ รวมถึงเด็กและเยาวชน ได้ผนึกกำลังกันเพื่อการขับเคลื่อนและรณรงค์ร่วมกัน
ภายในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมหลากหลายที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมของเด็กและเยาวชนจากภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงแนวทางจากหลากหลายหน่วยงานเพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตสิทธิเด็ก
ฉายภาพความรุนแรงต่อเด็ก วิกฤตสิทธิเด็กจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“48.6% ของเด็กไทยยังคงต้องเผชิญกับความสัมพันธ์ในลักษณะที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นจากความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ทั่วโลกมีเด็กกว่า 1.7 ล้านคนเสียชีวิตในทุกๆ ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย” ดร.บุญชัย หงส์จารุ ประธานอำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ด้านความรุนแรงต่อเด็ก และวิกฤตสิทธิเด็กอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ จาก รานงานสรุปวิกฤติสภาพภูมิอากาศ คือวิกฤติสิทธิเด็ก โดย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และ เด็กไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศทั่วโลกตามดัชนีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศของเด็ก ตัวเลขนี้บ่งบอกให้เราต้องเริ่มตระหนักถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลถึงความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งก็คือ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
GC26 สิทธิเด็กมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในระดับสากล คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Committee on the Rights of the Child) โดยการมีส่วนร่วมจากเด็กและเยาวชนจากทั่วโลกกว่า 16,331 คน จาก 121 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันจัดทำ ‘เอกสารความคิดเห็นทั่วไป ข้อ 26 (General Comment No. 26 – GC26)’ อธิบายว่า ‘สิทธิเด็กมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ และได้มีการเปิดตัวเฉลิมฉลองในระดับโลกไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“เด็กมีสิทธิในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และยั่งยืน รัฐต้องรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่การปกป้องสิทธิเด็กจากอันตรายที่เกิดขึ้นในทันที แต่ยังรวมถึงการละเมิดสิทธิเด็กที่มีความเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชนในอนาคตด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำหรือการละเลยของทุกภาคส่วน ผมขอให้ทุกคนได้ผลักดันสิทธิเด็กและปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นภาระสำคัญเร่งด่วนที่สุด รวมถึงการให้เด็กและเยาชนมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และการเสนอแนะในเชิงนโบบาย เพื่อให้เด็กทุกๆ คนได้เติบโตในโลกที่สวยงาม” ส่วนหนึ่งของการกล่าวรายงานโดย นายศักดิ์นฤน ขามธาตุ อดีตเด็กในความอุปการะ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะตัวแทนเยาวชน
ประเทศไทย ขานรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม’
สำหรับประเทศไทย ได้มีการขานรับตามแนวทางเอกสารความคิดเห็นทั่วไป ข้อ 26 (GC26) โดย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เกียรติเป็นประธานการจัดงาน ‘Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก - ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย’ ได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมขับเคลื่อนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ได้กำหนดประเด็น Climate Change เป็นนโยบายขับเคลื่อนงานของกระทรวง ซึ่งมุ่งเน้นการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ โดยมีการจัดทำแผนการปฏิบัติการในการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวของประชากรกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ สำหรับเด็กและเยาวชน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ เพื่อสร้างบทบาทในการร่วมขับเคลื่อน สะท้อน สื่อสาร ให้ทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคมได้ตระหนัก และพร้อมการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
ด้าน นางคยอนซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภาคีหลักของงานนี้ กล่าวว่า “ความคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อมนี้มีความสำคัญมาก เพราะชี้ให้เห็นว่าความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นกระทบต่อสิทธิของเด็กอย่างไร และรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องทำอย่างไรในการปกป้องสิทธิของเด็ก เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นในโลกที่ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งนี้ การออกแบบนโยบายและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องไม่ลืมเด็กและต้องคำนึงถึงหลักการเรื่องสิทธิเด็กเป็นสำคัญ”
งาน Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย’ และการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อมโดยเน้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับประเทศ เป็นเพียงการเริ่มต้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขวิกฤตที่กำลังด้านสิทธิเด็ก สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงเท่านั้น
จากสิ่งที่เด็กและเยาวชนทั้งที่มาร่วมงานในวันนี้ รวมถึงเสียงจากเด็กทั่วโลกที่มีส่วนในการจัดทำ ความคิดเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) “เด็กไม่ได้บอกให้เราดูแลเท่านั้น แต่เด็กบอกว่าเราที่เป็นผู้ใหญ่ต้องเพิ่มการปกป้องคุ้มครองเด็กๆ และส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมให้กับเด็กๆ มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มนักกิจกรรมเด็กและสิ่งแวดล้อม” นางสาวอิสราภรณ์ ดาวราม กรรมการขับเคลื่อนเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ฝากข้อคิดเป็นการทิ้งท้าย
ภาพถ่าย : https://drive.google.com/drive/folders/1ikukizJ0pVSGstLYABaWTSDcJDfU-P95...